top of page

แมงกะพรุน เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยอยู่ในน้ำ มีอยู่ในน้ำเค็มและน้ำจืด ส่วนมากจะเคลื่อนไหวไปตามกระแสน้ำ แต่บางชนิดก็สามารถว่ายน้ำได้เองเช่นกัน ทั้งนี้เป็นที่รู้กันดีว่าแมงกะพรุนเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ควรระวังเสมอเมื่ออยู่ใต้ทะเลเนื่องจากหนวดแมงกะพรุนมีเข็มพิษที่สามารถทำให้ผู้ที่ไปสัมผัสรู้สึกคัน ปวดแสบปวดร้อนหรือบางรายที่มีอาการแพ้อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เข็มพิษของแมงกะพรุนจะอยู่บริเวณหนวดมีลักษณะเป็นกระเปาะประกอบด้วยน้ำพิษและฉมวกยาวเป็นเส้น ทำงานเมื่อสัมผัสกับสิ่งเร้าต่างๆซึ่งเข็มพิษจะแทงทะลุผิวของสิ่งที่สัมผัสหนวดแมงกะพรุนแล้วจึงปล่อยนํ้าพิษตามเข้าไป ถึงแม้หนวดของแมงกะพรุนจะขาดและลอยมาตามกระแสน้ำเราก็สามารถโดนพิษของแมงกะพรุนได้เช่นกัน

ในปัจจุบันเชื่อกันว่ามีแมงกะพรุนอาศัยอยู่ในโลกใต้ทะเลมากถึง 30,000 ชนิด แต่เป็นที่รู้จักเพียง 2,000 ชนิดเท่านั้น ด้วยความที่แมงกระพรุนมีหลากหลายชนิด ลักษณะรูปร่างก็จะแตกต่างกันไปรวมถึงความอันตรายด้วย ผู้เขียนจึงขอแบ่งกลุ่มแมงกะพรุนออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆดังนี้

1.Scyphozoa (JellyFish) กลุ่มแมงกะพรุนทั่วๆไป เป็นแมงกะพรุนธรรมดาที่เรามักจะเห็นลอยมาเกยตื้นกัน ส่วนใหญ่เป็นแมงกะพรุนที่คนนำมาทำเป็นอาหารกัน

2.Hydrozoa(Portuguese man-of-war) กลุ่มแมงกะพรุนไฟมีลักษณะที่แตกต่างจากแมงกะพรุนธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสีสันที่ค่อนข้างสดและหนวดที่ยาว หากไปสัมผัสแมงกะพรุนในกลุ่มนี้เข้า บริเวณที่สัมผัสจะเป็นรอยคล้ายรอยไหม้ขึ้น อีก20-30นาทีต่อมาจะเกิดอาการบวมนูนขึ้นตามผิวหนังแล้วเกิดเป็นแผลเล็กๆและแตกออกเป็นแผลเรื้อรัง หากเกิดอาการแพ้จะเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งควบคุมไม่ได้ หายใจไม่ออกและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

3.Cubozoa (Box Jellyfish) กลุ่มแมงกะพรุนกล่อง ที่ได้ชื่อว่าแมงกะพรุนกล่องเพราะมีลักษณะคล้ายร่มหรือระฆังควํ่า มีขนาดที่แตกต่างกัน มีหนวดเป็นสายโดยแต่ละสายสามารถยาวได้ถึง 3 เมตร ตัวของแมงกะพรุนมักมีลักษณะโปร่งใส อาจมีสีอ่อนๆบ้างทำให้สังเกตได้ยาก แมงกะพรุนกล่องได้รับการจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกอย่างไรก็ตามแมงกะพรุนกล่องนั้นไม่ได้มีพิษร้ายแรงทุกชนิด มีเพียง 3 สายพันธุ์เท่านั้นที่มีอันตรายถึงชีวิตและสามารถทําให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น เราสามารถพบแมงกะพรุนกล่องได้บริเวณชายฝั่งของประเทศ Maxico, Japan, Australia ส่วนในประเทศไทยมีรายงานว่าพบบริเวณเกาะหมาก จ.ตราด และเกาะลันตา จ.กระบี่ โดยพบมากในช่วงเดือนตุลาคม - เมษายน และหลังพายุฝนที่พัดพามาใกล้ฝั่ง

อ้างอิง : https://www.freedomdive.com/th/tip/jellyfish

JELLYFISH

bottom of page